วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

1 กันยายน วันสืบ นาคะเสถียร


สืบ นาคะเสสถียร
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี แลกชีวิตของตนเอง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533

สืบ นาคะเสถียร (31 ธ.ค. 24921 ก.ย. 2533) นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติคนสำคัญของไทย มีบทบาทและชื่อเสียง จากการทำงานอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า ในเชี่ยวหลาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

สืบกับมรดกงานวิจัยด้านสัตว์ป่า

หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบ นาคะเสถียร ได้เริ่มชีวิตข้าราชการ โดยบรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงหน่วยงานที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น เขาตัดสินใจเลือกกองนี้เพราะต้องการทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า งานแรกของสืบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี เป็นจุดที่ทำให้สืบได้เรียนรู้ว่าได้มีผู้มีอิทธิพลบุกรุกทำลายป่าจำนวนมาก โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ได้เรียนต่ออีกที่อังกฤษ ถึงปี 2524 ได้กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการและประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากร ฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น และ 2 ปีต่อมา ในปี 2526 สืบได้ขอย้ายตัวเองเข้ามาเป็นนักวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว

ในระยะนี้ เป็นจังหวะที่สืบได้แสดงความเป็นนักวิชาการออกมาอย่างเต็มที่ งานวิจัยศึกษาสัตว์ป่าเป็นงานที่สืบทำได้ดี และมีความสุขในการทำงานวิชาการมาก สืบรักงานด้านนี้เป็นชีวิตจิตใจ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาได้ผูกพันกับสัตว์ป่าอย่างจริงจัง งานวิจัยในช่วงแรกของสืบ เป็นการวิจัยนก โดยศึกษาจำนวนนกชนิดและพฤติกรรมรวมถึงการทำรังของนกสืบได้เริ่มใช้เครื่องมือในการบันทึกงานวิจัย ซึ่งรวมถึง กล้องวีดีโอ กล้องถ่ายภาพ และการสเก็ตซ์ภาพ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ได้กลายเป็นผลงานการวิจัยสัตว์ป่าชิ้นสำคัญของเมืองไทยในเวลาต่อมา ได้แก่ ภาพถ่ายสไลด์สัตว์ป่าหายากนับพันรูป ม้วนเทปวิดีโอภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และปัญหาการทำลายป่าในเมืองไทยหลายสิบม้วน โดยผลงานทั้งหมดสืบเป็นคนถ่ายและตัดต่อเองทั้งหมด

โครงการอพยพสัตว์ป่าที่เชี่ยวหลาน

สืบ นาคะเสถียร ได้รับตำแหน่งหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่า โดยมีงบประมาณเริ่มต้นเพียง 8 แสนบาท ในการรับผิดชอบพื้นที่แสนกว่าไร่ โดยไม่มีการอนุมัติอุปกรณ์ช่วยชีวิตสัตว์ป่าแม้แต่เรือ แม้กระนั้นสืบได้ทำงานทั้งวันทั้งคืน และศึกษาข้อมูลจากทุกแหล่งทั้งหนังสือในเมืองไทย และหนังสือจากต่างประเทศ ตลอดจนขอความรู้จากนายพรานเก่าที่มีความชำนาญในการจับสัตว์ป่ามาก่อน

ในปี พ.ศ. 2529 สืบได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งน้ำเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สืบได้รับหน้าที่ให้เข้าไปช่วยเหลืออพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างในอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากปัญหาการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบได้ทุ่มเทเวลาให้กับการกู้ชีวิตสัตว์ป่าที่หนีภัยน้ำท่วม ถึงแม้ว่าโครงการอพยพสัตว์ป่าสามารถช่วยสัตว์ได้กว่า 1,364 ตัว สืบรู้สึกเสียใจกับสัตว์อีกจำนวนมากที่เสียชีวิตไป สืบเริ่มเข้าใจปัญหาและ ตระหนักว่างานวิชาการเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยเหลือป่าและสัตว์ป่าจากการถูกทำลายได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาระดับชาติ โดยจะเห็นได้กรณีรัฐบาลจะสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี สืบได้เข้าคัดค้านอย่างเต็มที่

สืบได้เขียนรายงานผลการอพยพสัตว์ป่าจากเขื่อนเชี่ยวหลาน เพื่อบอกทุกคนให้รู้ว่า การช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ถูกทำลายถิ่นที่อยู่นั้น เป็นเรื่องที่เกือบจะไร้ผลโดยสิ้นเชิง สืบยืนยันว่าการสร้างเขื่อนได้ทำลายล้างเผ่าพันธุ์ แหล่งอาหาร ตลอดจน ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง กระทั่งความช่วยเหลือจากมนุษย์ ไม่สามารถชดเชยได้ โดยการรวมพลังของกลุ่มนักอนุรักษ์ ซึ่งในที่สุดโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนได้ถูกระงับไป

ในระหว่างที่เขียนรายงานเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบได้รับตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานี เพิ่มอีกตำแหน่ง และต่อมาในปี พ.ศ. 2530 สืบได้ปฏิบัติงานในโครงการศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อม เพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส

ตำนานของห้วยขาแข้ง

สืบ นาคะเสถียร ได้กลับเข้ามารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ในปี พ.ศ. 2531 และสืบได้พยายามเสนอให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าห้วยขาแข้ง มีฐานะเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ จากองค์การสหประชาชาติ โดยเล็งเห็นว่าฐานะดังกล่าวจะเป็นหลักประกันสำคัญ ที่จะคุ้มครองป่าผืนนี้เอาไว้อย่างถาวร โดย ปลายปี พ.ศ. 2532 สืบได้รับทุนเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่อังกฤษ พร้อมกับได้รับมอบหมาย ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ที่มีความสำคัญมากไม่แพ้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในปี พ.ศ. 2533 สืบได้จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ได้เป็นวิทยากรบรรยาย และร่วมอภิปรายในโอกาสและสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง โดยเน้นเรื่อง "การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาที่เกี่ยวข้อง" และ "การอพยพสัตว์ป่าตกค้างในเขื่อนเชี่ยวหลาน"

ด้วยป่าห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อุดมไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่าอันล้ำค่า ทำให้หลายฝ่ายต่างก็จ้องบุกรุกเข้ามาหาผลประโยชน์ สืบได้แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะรักษาป่าผืนนี้ไว้ให้ได้อย่างชัดแจ้ง ได้ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า "ผมมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน" ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปรับงานหัวหน้าเขตฯ ถึงแม้กระนั้นก็ยังไม่สามารถปกป้องป่าได้ เนื่องจาก การดูแลผืนป่าขนาดมากกว่าหนึ่งล้านไร่ ด้วยงบประมาณและกำลังคนที่จำกัด รวมถึงการทุจริตของเจ้าหน้าที่ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย และมากกว่านั้นปัญหาความยากจนของชาวบ้านที่อยู่อาศัยโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่หวังผลประโยชน์ ได้ว่าจ้างชาวบ้านในเขตป่าสงวนเข้ามาตัดไม้ และลักลอบล่าสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์

ในทรรศนะของสืบ หนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือการสร้างแนวป่ากันชนขึ้นมา โดยให้ชาวบ้านอพยพออกนอกแนวกันชน และพัฒนาแนวกันชนให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความสนใจและความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

การเสียสละด้วยชีวิต

เช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง สืบได้สั่งเสียลูกน้องคนสนิทและเขียนจดหมายสั่งเสีย 6 ฉบับ ชำระสะสางภาระรับผิดชอบ และทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้าง รวมถึงมอบหมาย เครื่องใช้ และอุปกรณ์ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่า ให้สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ตั้งศาลเพื่อแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพลีชีพรักษาป่าห้วยขาแข้ง แล้วสวดมนต์ไหว้พระจนจิตใจสงบ เสียงปืนดังขึ้นนัดหนึ่งในราวป่าลึก ที่ห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ได้จบชีวิตของเขาลง และเป็นจุดเริ่มต้นของ "ตำนานนักอนุรักษ์ไทย สืบ นาคะเสถียร ผู้ที่รักป่าไม้ สัตว์ป่าและธรรมชาติ ด้วยกายและใจ"

สองอาทิตย์ต่อมา บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่าไม้ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นายอำเภอ ป่าไม้เขต และ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อีกนับร้อยคน ได้เปิดประชุมเพื่อหามาตรการป้องกันการบุกรุกป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดย สืบ นาคะเสถียร ได้พยายามจัดตั้งการประชุมหลายสิบครั้งแต่ไม่มีการตอบรับจากเจ้าหน้านี้สักครั้งจนกระทั่งการเสียชีวิตของสืบ ทำให้มีข้อกล่าวว่า หากไม่มีเสียงปืนนัดนั้น การประชุมดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน

การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร ได้ส่งผลสะเทือนอย่างล้ำลึกต่อผู้คนที่รักธรรมชาติ และแสวงหาความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้เพราะว่าในยามที่ยังมีชีวิตอยู่ สืบมิได้เป็นเพียงข้าราชการอาชีพที่มีภาระการงานเกี่ยวกับการพิทักษ์ป่า และสัตว์ป่าเท่านั้น หากเป็นผู้นำคนสำคัญของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย เป็นผู้ที่เคยต่อสู้เพื่อปกปักรักษาทรัพยากรป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยไม่คำนึงภัยอันตราย การจากไปของเขานับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นความสูญเสียที่นักอนุรักษ์ธรรมชาติทุกคน ไม่อาจปล่อยให้ผ่านพ้นไป โดยปราศจากความทรงจำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศาลเจ้าแม่งูจงอาง ถนนพระราม2

ศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก (แม่ขวัญ)
ศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก (แม่ขวัญ) ริมถนนพระราม 2

ประวัติศาลเจ้าแม่งูจงอาง
ศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก
กับตำนานอาถรรพณ์ ในตอนสร้างถนนพระราม 2 ประวัติศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก ถนนพระราม 2 ซึ่งการก่อสร้างในขณะนั้น ทับครอบครัวของเจ้าแม่งูจนเสียชีวิตทั้งหมด

ปัจจุบันประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อในเรื่องของการไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ มากมาย อาทิ ศาลย่านาค พระโขนง เจ้าแม่ตะเคียนเงิน ตะเคียนทอง ศาลเจ้าพ่อหอกลอง กราบเรือโบราณขอเลขเด็ด ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง วัดบางนมโค ฟอสซิลไม้ตะเคียนทองให้ลาภ รูปปั้นพุ่มพวง ดวงจันทร์ ศาลเจ้าพ่อทองคำ

ตำนานอาถรรพณ์ศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก ส่วนอีกหนึ่งที่ศาล ที่มีประชาชนไปกราบไหว้กันเป็นจำนวนมากคือ ศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก ถนนพระราม ๒ (ซอย ๔๘) เขตบางขุนเทียน ถือเป็นศาลที่มีคนเดินทางมาขอโชคขอลาภกันเป็นจำนวนมาก และยิ่งเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าว "อาถรรพณ์เปิบงูเห่าตาย ๓ ศพ" ส่งผลให้ ศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ

เจ้าแม่งูจงอางและลูก ครอบครัวของเจ้าแม่งู
เจ้าแม่งูจงอางและลูก ครอบครัวของเจ้าแม่งู

ที่อยู่ศาลเจ้าแม่งูจงอาง จะตั้งอยู่บน ถนนพระราม 2 (ซอย 48) เขตบางขุนเทียน ซึ่งนายสมหมาย งามละม้าย ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก เล่าว่า ตามประวัติกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ศาลเจ้าแม่งูแห่งนี้มีการพูดต่อๆ กันมา จากการเริ่มทำถนนพระราม ๒ ในขณะที่ทำถนนมาถึงหลัก กม.ที่ ๕-๖ เกิดอาเพศขึ้น โดยมีอยู่วันหนึ่ง คนงานหลับไปแล้วฝันว่าเจ้าแม่จงอาง มาเข้าฝันขอเวลา ๗ วัน เนื่องจากตอนนี้กำลังท้องแก่ ถ้ายังไงขอให้คลอดลูกก่อนแล้วก็จะย้ายไปที่อื่น เมื่อคนงานฝันเช่นนั้นก็ตกใจสะดุ้งตื่นขึ้นมา แล้วนำเรื่องราวทั้งหมดไปเล่าให้หัวหน้าคนงานฟัง หัวหน้าคนงานบอกปัดไปว่า คงเป็นแค่ความฝัน เป็นเรื่องธรรมดา คงไม่มีอะไร หัวหน้างานคนนี้ได้สั่งให้คนงานทำงานต่อไป

ระหว่างที่คนงานกำลังขับรถเพื่อเกลี่ยดินอยู่นั้น ได้ถอยไปทับ ครอบครัวของเจ้าแม่งู จนเสียตายทั้งหมด เมื่อคนงานรู้ว่า ถอยรถไปทับครอบครัว เจ้าแม่งู ก็ตกใจ จึงขับรถกลับบ้าน ระหว่างถอยอยู่นั้นไม่รู้ถอยอย่างไร คนงานคนนี้เกิดถอยไปทับครอบครัวตัวเองเสียชีวิตทั้งหมด เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เขาตกใจ แล้วเสียสติหายไปไหนไม่มีใครรู้ ต่อมาบริเวณนั้นจึงเกิดอุบัติเหตุเป็นประจำ

ศาลเจ้าแม่งูจงอาง คือ
จนวันหนึ่ง มีชาวบ้านไปเชิญพราหมณ์มาทำพิธี เพื่อสื่อกับดวงวิญญาณของเจ้าแม่งู แล้วมีการถามว่า ทำไมท่านถึงโกรธแค้นมาเอาชีวิตผู้คนที่ผ่านไปมาแถวนี้

เมื่อตั้งคำถาม เจ้าแม่งู ก็ให้คำตอบกลับมาว่า ท่านโกรธแค้นที่ทำให้ครอบครัวของท่านเสียชีวิต เพราะก่อนหน้านั้น ก็บอกแล้ว แต่ไม่มีใครฟังท่านจึงต้องการเอาชีวิตผู้คนให้มากกว่าที่ท่านเสียไป

การสื่อสารครั้งนั้น จึงถามอีกว่า แล้วจะให้ทำอย่างไร ท่านถึงจะหายโกรธแค้น กับสิ่งที่สูญเสีย เจ้าแม่งูจงอางตอบว่า ขอให้สร้างศาลให้อยู่บริเวณที่เสียชีวิต หากสร้างศาลให้แล้ว ก็จะไม่ทำร้ายใครอีก แต่จะช่วยเหลือผู้คน เพื่อบำเพ็ญตนต่อไป ดังนั้นชาวบ้านจึงพากันตั้ง ศาลเจ้าแม่งู แห่งนี้เป็นศาลไม้เพียงตาขึ้น

จากนั้นประชาชนที่เดินทางผ่านไปมาในย่านนี้ ต่างเห็นว่า มีศาลเจ้าแม่งูเป็นไม้เล็กๆ ก็เข้ามากราบไหว้กัน จนมีผู้คนเดินทางมาขอพรท่านแล้วสัมฤทธิผล เกิดการพูดต่อๆ กัน ทำให้ผู้คนเดินทางมากราบไหว้มากขึ้น

กระทั่งวันหนึ่ง มีคนมากราบไหว้กันมากๆ ทำให้สถานที่คับแคบ แล้วผู้คนที่มาไหว้เดินทางกลับหมดแล้ว แต่เหลือธูปที่ยังไม่ดับ ประกอบกับลมที่แรง จึงทำให้ธูปเกิดไฟลุกไหม้ศาลเจ้าแม่ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกอย่างมาก ไฟที่ลุกอยู่นั้น ไหม้ป่าแถบนี้เป็นบริเวณกว้าง แต่เหมือนเป็นปาฏิหาริย์ ศาลเจ้าแม่งูกลับไม่ไหม้ หลายคนจึงเชื่อว่า เกิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน

ต่อมามีการขยายถนนพระราม ๒ เป็นสองเลน ทำให้ต้องย้ายศาลเจ้าแม่งู ครั้งนั้นวิญญาณเจ้าแม่งูไปเข้าฝันน้องเจ้าของที่ดินปัจจุบันว่า ตอนนี้เขากำลังจะมาทำถนน จึงเกิดความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่ เห็นว่าที่ดินบริเวณนี้ยังว่างอยู่ อยากจะขอให้สร้างศาลใหม่ได้ไหม

วันรุ่งขึ้น น้องสาวเจ้าของที่เล่าให้ครอบครัวฟัง เจ้าของที่ดินคิดว่า หากเป็นอย่างความฝันจริง ก็จะสร้างศาลให้ตามกำลังเงิน ฉะนั้น พอเริ่มสร้างศาลแห่งนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ระหว่างที่ลงมือสร้าง ไม่รู้เกิดสิ่งมหัศจรรย์อะไร มีผู้คนมากราบไหว้เจ้าแม่งูเป็นจำนวนมาก

"ประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ที่มาบนแล้วสำเร็จกัน ตรงนี้ศาลไม่ได้แนะนำว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ว่าคนที่มาไหว้ต่างมาด้วยใจและศรัทธา ที่ศาลแห่งนี้ไม่มีร่างทรงใดๆ ทั้งสิ้น คนที่บนสำเร็จจะเอาไข่ไก่ เป็ด ไก่ หมู ชุดไทยบายศรี แล้วก็ภาพยนตร์ อยู่ที่กำลังทรัพย์ของแต่ละคน ท่านเองไม่ได้กะเกณฑ์อะไร ผมอยู่ที่นี่มาเป็นเวลา ๑๐ ปี เห็นคนมาบนมากบนน้อย ต่างก็สำเร็จ ท่านก็ช่วยเหลือกับทุกคน ส่วนเงินบริจาคที่ประชาชนมาบริจาคกันไว้ เจ้าของที่จะเก็บไว้เพื่อบูรณะศาลเจ้าแม่งูต่อไป วันนี้บริเวณแห่งนี้ยังมีงูอยู่อีกมาก ทุกวันนี้จึงต้องนำอาหารไปวางไว้ให้งูกินเป็นประจำ" นายสมหมาย กล่าว

ศาลเจ้าแม่งู เชื่อไว้ไม่เสียหาย
"ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" เป็นคำพูดยอดนิยม สำหรับคนที่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถอธิบายด้วยหลักและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้ เมื่อไม่สามารถอธิบายได้ คำพูดที่ตามมา คือ "เชื่อไว้ไม่เสียหาย ไม่เชื่ออาจจะเสียหลาย"

ส่วนคติความเชื่อเรื่องอาถรรพณ์ของวิญญาณนั้น พระธรรมกิตติเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ในฐานะโฆษกมหาเถรสมาคม บอกว่า เรื่องวิญญาณ หรือเจ้าที่ตามสถานที่ต่างๆ ที่หลายคนอาจมองเป็นเรื่องแปลก หรือหลายคนมองเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม เราเองเป็นชาวพุทธ ก็ไม่อาจมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปได้

ในกรณีของการสร้างถนนพระราม ๒ นั้น เท่าที่ทราบ บริเวณการก่อสร้างมีงูเห่าชุกชุมมาก ระหว่างการก่อสร้างมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นกับคนงานก่อสร้าง อันมีเหตุมาจากงูมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องรับฟังอย่างมีเหตุมีผล เพราะตรงนี้อาจเป็นไปได้ ในเรื่องของแรงอาฆาต ที่มีการรื้อสิ่งของใดก็ตามที่มีเจ้าที่สิงสถิตอยู่ โดยไม่ได้บวงสรวง เพื่อเป็นการขออนุญาต ก็อาจเกิดปัญหา เช่นเดียวกับการสร้างถนนพระราม ๒

"การทำพิธีบวงสรวง จึงจำเป็น ครั้งหนึ่งได้รับนิมนต์ไปทำพิธีให้บริษัทขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ย่านกิ่งแก้ว เมื่อไปดูให้แล้วพบว่ามีเจ้าที่และต้นไทร บริเวณนั้นมีวิญญาณด้วย จึงแนะนำให้สร้างโรงงานบริเวณอื่น เจ้าของเชื่อ และทำตาม ปรากฏว่าทุกวันนี้ธุรกิจของเขาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก และไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ มารบกวนเลย สิ่งที่เร้นลับแบบนี้ จึงไม่ควรมองผ่านไป" พระธรรมกิตติเมธี กล่าว

ที่มา: เรื่องไตรเทพ ไกรงู ภาพ กริยาวัตร พงษ์แก้ว(หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)

พรีโม พอสโต และปาลิโอ ชนบทอิตาลี กลางเขาใหญ่

พรีโม-พอสโต้(Primo Posto)

รายละเอียด :สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ บรรยากาศไร่องุ่น สไตล์อิตาลี่ ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมยุคเรเนซองส์ ร้านกาแฟอิตาเลี่ยนสไตล์ (Café Momus) ,ร้านไวน์ (Divino) ,ร้านอาหารแบบ Home made ,ร้านไอศกรีม (Dolce Vita) ,ร้านขายของที่ระลึก แกลเลอรี่ สถานที่จัดกิจกรรม จัดงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานวันเกิด จัดงาน Event เปิดตัวสินค้าต่างๆ การฉายหนังกลางแปลงในสวน คอนเสิร์ตในสวน

ที่มาที่ไป : Primo Posto เกิดจากเพื่อนกลุ่มรัฐศาสตร์ จุฬา 3 ท่าน คือ คุณวินัย ธาดาสีห์/คุณพิษณุ นิลกลัด/คุณวิชัย วราศิริกุล ซึ่งได้มาสร้างบ้านอยู่ที่เขาใหญ่ใกล้ๆกัน เมื่อมาอยู่สักระยะหนึ่ง ก็รู้สึกอยากให้คนมาเที่ยวที่เขาใหญ่เพิ่มมากขึ้น เพราะมีธรรมชาติที่สวยงาม และอากาศดีติดอันดับโลก โดยคอนเซ็ปต์ของร้านคือ ต้องการให้เหมือนบ้านของชาวบ้านในชนบทของอิตาลี โดยสีสันที่แตกต่างกันในแต่ละห้องก็หมายถึงบ้านของแต่ละคน โดยในแต่ละห้องก็จะแบ่งออกเป็นร้านต่างๆ คือ ร้านกาแฟ(Cafe Momus) ร้านไวน์ (Divino) ร้านไอศกรีม(Dolce Vita)และร้านอาหาร โดยร้านอาหารจะเป็นสไตล์แบบ Home made หรือที่เรียกกันในอิตาลีว่า Trattoria วัตถุประสงค์หลักของร้านก็คือ ต้องการให้เป็น Community ของคนที่มีบ้าานอยู่ในละแวกเขาใหญ่ รวมทั้งสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่มาเที่ยวในบริเวณเขาใหญ่เพื่อให้เป็นที่พบปะสังสรรค์ ที่พักผ่อนสำหรับครอบครัวและสามารถมาจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ ได้ เช่น งานแต่งงาน งานวันเกิด
นอกจากนี้ Primo Posto จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การฉายหนังกลางแปลงในสวนคอนเสิร์ตในสวน เป็นต้น
Primo Posto ได้หยิบยืมเอาบรรยากาศของอาคารสไตล์ทัสคานี ก็ยังมีอีกสถานที่จากเจ้าของเดัยวกัน ที่สร้างเอาไว้ในลักษณะของถนนคนเดินสไตล์อิตาลี ด้วยสีสันรูปลักษณ์ของอาคารโทนเดียวกันกับ Primo Posto ที่นี่ถูกเรียกว่า Palio Walking Street
ทางร้านคิดค่าเข้าคนละ 55 บาท โดยสามารถนำบัตรผ่านไปแลกซื้อไอศครีมหรือกาแฟข้างในได้
ร้านค้าทั่วไป : เปิดให้บริการในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (Long Weekend)
วันศุกร์ เปิดให้บริการเวลา 09.00-21.00 น. วันเสาร์ เปิดให้บริการเวลา 09.00-21.00 น. วันอาทิตย์ เปิดให้บริการเวลา 09.00-18.00 น.
(ถ้าวันจันทร์เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะปิดให้บริการเวลา 21.00 น.)

ร้านอาหาร :
วันศุกร์ เปิดให้บริการเวลา 18.00-21.00 น.
วันเสาร์ เปิดให้บริการเวลา
มื้อกลางวัน เวลา 11.00-14.00 น.
มื้อค่ำ เวลา 18.00-21.00 น.
วันอาทิตย์ เปิดให้บริการเวลา 11.00-14.00 น.

ติดต่อ : Primo Posto Del Khao Yai
200/2 หมู่ที่ 10 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
โทร.: 0-84035-8554 Fax: 0-2652-0858

พาริโอ้-เขาใหญ่(Palio Khao Yai)


รายละเอียด :โครงการ Palio Khaoyai เป็นร้านค้าเล็กๆ เป็นแนวลดหลั่นกันไป ที่ออกแบบเป็นกลุ่มอาคารถนนคนเดิน ด้วยสถาปัตยกรรมแบบ ยุโรปโบราณ ขายสินค้าหลายประเภท เช่น ของแต่งบ้าน เสื้อผ้า เครื่องประดับ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านเสริมสวย สปา ร้านหนังสือ ศูนย์อาหาร ธนาคาร ฯลฯ รวมประมาณ 120 ร้านค้า บนพื้นที่กว่า 7 ไร่ จอดรถได้ 300 กว่าคัน

Palio Walking Street ที่นี่มีพื้นที่กว้างขวาง ประกอบด้วยหมู่อาคารเล็กใหญ่ลดไล่ระดับกันไป และได้นำสถาปัตยกรรรมของยุโรปโบราณมาผสมผสาน ประกอบด้วยร้านน้อยใหญ่กว้า 120 ร้าน
ปาลิโอ อยู่ในตำบลเดียวกับ พรีโม พอสโต้ คือ ตำบลหมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ห่างกันประมาณ 10 กิโลเมตรถ้าหากเราขับรถเข้ามากจากทางแยกเข้าตัวอำเภอปากช่อง วิ่งเข้าเขาใหญ่ ตามถนนธนะรัชต์ ปาลิโอจะอยู่ทางซ้ายมือประมาณหลักกิโลเมตรที่ 17 ติดกับโรงแรมจุลดิศ เขาใหญ่ รีสอร์ตแอนด์สปา ส่วน พรีโม พอสโต จะอยู่เลยถัดเข้าไปอีก มีทางแยกทางขวามือ
Palio ประกอบไปด้วยทางเดินเล็กๆ ที่จะพาเราไปสู่พลาซ้่าน้ำพุที่ด้านหลัง มีพื้นที่เป็นร้านรวงขายสินค้านานาชนิด รวมถึงอาหารหลากหลายประเภท ร้านค้าขายของที่ระลึก ร้านเสื้อผ้าแฟชั่นอีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีสวนหย่อมและลานอเนกประสงค์สำหรับจัดการแสดง หรือเปิดตัวสินค้า
ในส่วนสวนสวย ได้คุณ อำนาจ คีตพรรณนา นักจัดสวนระดับแถวหน้าสุดของประเทศไทยมาออกแบบให้อีกด้วย
ที่มาของชื่อ Palio นั้น เป็นชื่อของเทศกาลแข่งม้าที่โ่ด่งดัง ที่จัดขึ้นใจกลางเมืองเซียน่า ประเทศอิตาลี มีความหมายว่า "รางวัล" ซึ่งทางเจ้าของตั้งใจให้เป็นรางวัลแก่ชุมชนเขาใหญ่ เป็นสถานท่องเที่ยวแห่งใหม่ของคนที่นี่

** เมืองเซียน่า เป็นนครประวัติศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี 2538 อยู่ในแคว้นทัศคานา พื้นที่ของแคว้นทัศคานา 1 ใน 4 เป็นภูเขา อีกสองส่วนครึ่งเป็นที่ราบสูง เหลืออีกเพียงครึ่งส่วน หรือประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นที่ราบ ลักษณะทางภูมิศาสตร์แบบนี้นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ **

ปาลิโอ : โครงการนี้เป็นร่วมหุ้นกันระหว่างเพื่อนรัฐศาสตร์จุฬาฯ รุ่น 25 และรุ่น 24 โดยมีคุณพิษณุ นิลกลัด ,
คุณธีรพจน์ จรูญศรี ประธานจุลดิศ เขาใหญ่ และเพื่อนอีก 2 คน

ปัจจุบันมีโรงแรมที่พัก Palio Inn ห้องพักสไตล์ บูติค เปิดให้บริการแล้ว ห้องพักอยู่ในบริเวณ Palio Khao Yai walking street & shopping center มีทั้งหมด 12 ห้อง แต่ละห้องตกแต่งไม่เหมือนกันซึ่งมีความสวยงามแตกต่างกันไป

ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปาลิโอ (Palio) จะ เก็บค่าผ่านประตูคนละ 20 บาทและค่าที่จอดรถคันละ 20 บาท
เพื่อเป็นค่าบำรุงรักษาสถานที่

การเดินทาง

ใช้เส้นทางเดียวกันกับการเดินทางมาเขาใหญ่ (ปากช่อง) จากสระบุรี เลี้ยวขวามาทางนครราชสีมา เลี้ยวขวาเข้า ถนนธนะรัชต์ มุ่งหน้าไปเขาใหญ่ ปาลิโอ (PALIO KHAO YAI) จะอยู่ทางซ้ายมือ อยู่ติดริมถนน และติดกับโรงแรมจุลดิศ เขาใหญ่ รีสอร์ท แอนด์ สปา

เปิดบริการ: ศุกร์-เสาร์ เวลา 09.00-21.00 น.
อาทิตย์ เวลา 09.00-18.00 น.

ที่มา : www.folktravel.com /www.primo-posto.net/www.Palio- khaoyai.com

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กิโลเมตรที่ 0

สัปดาห์นี้ ขอเขียนเรื่องราวที่หลายคนสงสัยและพยายามหาคำตอบอยู่ กับเรื่องของ กิโลเมตรที่ 0
ซึ่งก็มีบทความเกี่ยวกับหลักกิโลเมตรที่ 0 ไว้มากมาย ก็ขออนุญาตนำมาบอกแก่เพื่อนสมาชิกและมัคคุเทศก์ที่ยังอาศัยการตอบแบบขอไปที หรือข้างๆคูๆ ให้แล้วกันนะ

ทางหลวงในประเทศไทย เป็นเครือข่ายของทางหลวงที่อยู่ในประเทศไทย โดยปกติมักหมายถึงทางหลวงแผ่นดินที่อยู่ในความควบคุมของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม
ทางหลวงแผ่นดิน คือ เส้นทางสาธารณะเพื่อให้การเดินทางและขนส่ง เป็นไปได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งทางราชการจะเป็นผู้รับภาระในการออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งผู้รับผิดชอบ และดูแลโครงการคือ กรมทางหลวง และ กรมทางหลวงชนบท ภายใต้สังกัดของ กระทรวงคมนาคม

ในยุคสมัยเริ่มต้นของการก่อสร้างทางหลวง กรมทางหลวงนิยมใช้ชื่อ หรือบุคคลที่มีความสำคัญในสายทางนั้นมาตั้งชื่อถนนหรือสะพาน เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต สะพานสารสิน เป็นต้น ต่อมาได้มีการพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก การใช้ชื่ออาจจะก่อให้เกิดการสับสน และไม่สามารถทราบว่าทางสายนั้นอยู่ในภาคใด ดังนั้นจึงได้มีการนำระบบหมายเลขทางหลวงมาใช้กำกับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน ที่อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง โดยหมายเลขกำกับมีความหมายบอกถึงภาคที่ตั้งของเส้นทาง แต่อาจจะมีการคาบเกี่ยวกันระหว่างภาค เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีการแบ่งจังหวัดในแต่ละภาคต่างกันบ้างเล็กน้อย ดังนี้

  1. ทางหลวงสายที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 1 แสดงว่าทางสายนั้นอยู่ในภาคเหนือ และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  2. ทางหลวงสายที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 2 แสดงว่าทางสายนั้นอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางส่วนของภาคเหนือ และภาคกลาง
  3. ทางหลวงสายที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 3 แสดงว่าทางสายนั้นอยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออกภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคใต้
  4. ทางหลวงสายที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 4 แสดงว่าทางสายนั้นอยู่ในภาคใต้
ตัวอย่างป้าย
วิธีดูหลักกิโลเมตร

ทางหลวงสายตะวันออก - เฉียงเหนือ

ลำดับที่ 1 ทางหลวงหมายเลข 202 (ถนนอรุณประเสริฐ)เป็นถนนสายรองประธานเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดและอำเภอ

ลำดับที่ 2 บอกตำแหน่งของหลักกิโลเมตร เช่นหลักกิโลเมตรที่ 45ของทางหลวงหมายเลข 202

ลำดับที่ 3 บอกระยะทางของอำเภอที่ใก้ลที่สุด

ลำดับที่ 4 บอกระยะทางของจังหวัดที่ใก้ลที่สุด


ที่มา: กรมทางหลวง/วิกิพิเดีย/


ที่นี้มาดููข้อมูลของหลักกิโลเมตรที่ 0



อธิบดีกรมทางหลวง มาเปิดเผยหลักกิโลเมตรที่ 0 หรือ กม. 0 ของประเทศไทยว่าอยู่ตรงไหน

อธิบดีกรมทางหลวง-วีระ เรืองสุขศรีวงศ์"

"หลักกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศไทย อยู่ที่หัวมุมถนนดินสอ ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" อธิบดีกรมทางหลวง เฉลยคำตอบก่อนย้อนรอยที่มาที่ไปให้ฟังว่า...

"อันที่จริงไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุถึงที่มาและที่ไป หรือเหตุผลการปักหมุดหลักกิโลเมตรที่ 0 ไว้ตรงนี้ แต่สันนิษฐานจากการ บันทึกคำกล่าวของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนกล่าวในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ตอนหนึ่งว่า

"เพื่อเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และเพื่อมีเครื่องเตือนใจให้พยายามผดุงรักษาระบอบนี้ให้สถิตสถาพรอยู่ตลอดกาล คณะรัฐบาลจึงลงมติให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆที่จะออกจากกรุงเทพฯไปยังหัวเมือง ก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้..."

นอกจากนั้นแล้ว ก็มีหลักฐานที่เป็นอักษรที่อ้างอิงจากคำกล่าวของ จอมพล ป. ซึ่งได้เขียนไว้ใน อักขรานุกรม ภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1ปี 2506 หน้า 224 ซึ่งเรียบเรียงโดยนายชำนาญ อินทุโศภณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่อ้างประกาศราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 67 เล่มที่ 67 วันที่ 12 ธันวาคม 2493 ว่า...

"ถนน 3 สาย ที่ระบุชื่อข้างบน (ถนนพหลโยธิน, ถนนสุขุมวิท และถนนเพชรเกษม) ถือจุดเริ่มต้นความยาวจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.พระนคร"

อธิบดีกรมทางหลวง...เฉลยต่อไปว่า เหล่าข้าราชการสมัยนั้น พอได้ฟังคำกล่าวของผู้นำประเทศ ก็ต้องปฏิบัติตาม สร้างหลักทางหลวงขนาดยักษ์ ไว้ ณ หัวมุมถนนดินสอ ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วการปักหลักกิโลเมตรที่ 0 หรือเรียกสั้นๆว่า "กม. 0" เป็นเพียงสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น

"เนื่องจากทางหลวงแผ่นดินสายหลักที่ใช้เป็นโครงข่ายเชื่อมการจราจรระหว่างภาคต่อภาค ล้วนมีจุดเริ่มแรกที่ต่างกัน จะเห็นได้จากข้อมูลของกรมทางหลวงที่ระบุไว้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ 4 สาย ได้แก่ 1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) เริ่มจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี กทม.ถึง ชายแดนสหภาพพม่า (ด่านพรมแดนแม่สาย) อ.แม่สาย จ.เชียงราย

2. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) จากทางแยกต่างระดับมิตรภาพ อ.เมืองสระบุรี-ชายแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว) อ.เมืองหนองคาย

3. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) จากจุดตัดทางรถไฟสายแม่น้ำ เขตคลองเตย กทม.-ชายแดนราชอาณาจักรกัมพูชา (บ้านหาดเล็ก) อ.คลองใหญ่ จ.ตราด

และ 4. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) จากสะพานเนาวจำเนียร เขตบางกอกใหญ่ กทม.-ชายแดนประเทศมาเลเซีย (ด่านพรมแดนสะเดา บ้านไทย-จังโหลน) อ.สะเดา จ.สงขลา

"แต่การนับเป็นกิโลเมตรที่ 0 หรือจุดเริ่มต้นจริงๆจะวัดจากหลักทางหลวง ตั้งอยู่หัวมุมถนนดินสอ ฝั่งเดียวกับสภาทนายความ และอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขตพระนคร" อธิบดีกรมทางหลวง สรุปคำตอบอย่างชัดเจนในตอนท้าย
ที่มา : http://news.mediathai.net/